เข้าใจเรื่องการเขียนแบบ: กระดาษเขียนแบบมีกี่ชนิด ควรเลือกยังไง?

ความรู้เบื้องต้นการเขียนแบบ กระดาษเขียนแบบมีกี่ชนิด ควรเลือกยังไง?

ความรู้เบื้องต้นการเขียนแบบ กระดาษเขียนแบบมีกี่ชนิด ควรเลือกยังไง?

สำหรับงานผลิต งานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ การสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบและผู้ผลิตถือเป็นสิ่งสำคัญ หากเกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนอาจสร้างความเสียหายมหาศาลได้เลยทีเดียว ในงานพวกนี้การเขียนแบบจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงกระดาษที่ใช้ในการเขียนแบบด้วย วันนี้จึงมีความรู้เกี่ยวกับกระดาษเขียนแบบมากฝาก ไปดูกันว่ากระดาษเขียนแบบมีกี่ชนิด ควรเลือกยังไง ใช้ทำอะไร? รวมไปถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนแบบที่ถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

การเขียนแบบคืออะไร?

การเขียนแบบ คือการเขียนภาพ สัญลักษณ์ รายละเอียดที่เป็นความคิดของผู้ออกแบบลงบนกระดาษเขียนแบบ เพื่อเป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ และเข้าใจแบบเดียวกัน การเขียนแบบถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งในงานช่าง หรืองานอุตสาหกรรม แบบที่เขียนลงบนกระดาษเขียนแบบจะเป็นตัวกลางในการนำไปสร้างหรือผลิตเป็นชิ้นงานที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน การเขียนแบบจึงจำเป็นต้องใช้มาตรฐานสากล

ต้องบอกว่าการเขียนแบบถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบและผู้ผลิต หากเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันจะทำให้เกิดความผิดหลาดในกระบวนการผลิต ซึ่งในแบบงานจะต้องกำหนดรายละเอียดให้ครบถ้วน เช่น ขนาด รูปร่าง วัสดุที่ใช้ ลักษณะของผิวงาน รวมไปถึงสัดส่วนของแบบด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ถ้าเป็นยุคก่อนการเขียนแบบจะต้องเขียนลงบนกระดาษเขียนแบบ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบเขียนแบบ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบว่าถนัดแบบไหน เขียนลงกระดาษเขียนแบบเหมือนเดิม หรือเขียนแบบบนคอมพิวเตอร์

จุดเริ่มต้นของการเขียนแบบ

การเขียนแบบมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจของนักโบราณคดี พบบันทึกเป็นรูปภาพ มีอายุประมาณ 4,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ที่เมืองเมืองซักการา ดินแดนอียิปต์โบราณ ภายในบันทึกถูกขีดเขียนด้วยสัญลักษณ์ และรูปภาพเพื่อบันทึกและสื่อสารถึงเหตุการณ์ต่างๆ และเมื่อ 4,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ยังพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวเมโสโปเตเมีย เป็นชาติแรกที่รู้จักการเขียนแบบ นั่นคือ แผ่นหินเขียนเป็นภาพแปลนของป้อมปราการ เขียนโดย ซาลเดนกูตัว

ศตวรรษที่ 15 ลิโอนาโด ดาวินซี ถ่ายทอดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วยการเขียนเป็นภาพ 3 มิติ จนทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของการเขียนแบบ

ศตวรรษที่ 18 แกสพาร์ด มองกิจ นายช่างชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ริเริ่มการเขียนแบบภาพฉายในทางการก่อสร้างและทางทหาร ทำให้การเขียนภาพฉายถูกพัฒนาและกลายมาเป็นพื้นฐานในการเขียนแบบจนถึงปัจจุบัน

ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่งานเขียนแบบถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก มีการกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการเขียนแบบให้เป็นสากล โดยจัดเข้าไว้ในระบบ ISO

การเขียนแบบพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทั้งวิธีการและสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น สามารถสื่อความหมายได้อย่างเข้าใจตรงกัน เช่น แบบภาพฉาย ภาพตัด รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนแบบด้วย การเขียนแบบถูกปรับเปลี่ยนให้ง่ายยิ่งขึ้น จากการเขียนลงบนแผ่นหิน มาเป็นการเขียนบนกระดาษเขียนแบบ ตลอดจนปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในงานเขียนแบบ ทำให้การเขียนแบบทำได้ง่าย แก้ไข ปรับเปลี่ยนได้สะดวก มองเห็นภาพรวมได้อย่างละเอียด ทำให้การเขียนแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีโปรแกรมเกี่ยวกับงานเขียนแบบให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย เช่น AutoCad, SolidWorks และ SketchUp แต่ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน แต่ก็มีนักออกแบบหลายคนที่ยังใช้การเขียนแบบลงบนกระดาษเขียนแบบอยู่ รวมถึงการเรียนวิชาเขียนแบบก็ยังใช้วิธีการนี้ปะปนกับการเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์อยู่เช่นเดียวกัน

การเขียนแบบมีกี่ประเภท?

ในการเขียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนลงบนกระดาษเขียนแบบ หรือเขียนผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. Engineering Drawing : เป็นการเขียนแบบในงานอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เช่น การเขียนแบบชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องจักร
  2. Architectural Drawing : เป็นการเขียนแบบในงานก่อสร้าง งานทาง เช่น การเขียนแบบของโครงการก่อสร้างอาคาร
  3. Interior Design Drawing : เป็นการเขียนแบบในงานออกแบบตกแต่งภายใน เช่น การออกแบบภายในตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
  4. Product Drawing : เป็นการเขียนแบบเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้การสั่งผลิต

กระดาษเขียนแบบมีกี่ชนิด?

กระดาษเขียนแบบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. กระดาษเขียนแบบด้วยดินสอเป็นกระดาษปอนด์สีขาว ผิวเรียบ แต่ไม่ลื่น ไม่มัน ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เส้นดินสอไม่ติดได้ ส่วนใหญ่กระดาษเขียนแบบด้วยดินสอจะใช้กระดาษปอนด์
  2. กระดาษเขียนแบบลงหมึกเป็นกระดาษที่ผิวเรียบ มัน เนื้อกระดาษขาวขุ่น สามารถมองเห็นเส้นหมึกได้ทั้งหน้าและหลัง ส่วนใหญ่กระดาษเขียนแบบลงหมึกจะใช้เป็นกระดาษไขเพื่อนำไปใช้ในการถ่ายพิมพ์เขียว

นอกจากนี้กระดาษเขียนแบบยังแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้ดังนี้

การดาษร่าง : เป็นเหมือนกระดาษลอกลายทั่วไป มีความทึบน้อย สามารถมองทะลุเห็นแบบด้านล่างได้

กระดาษไข : เป็นกระดาษที่มีเนื้อเรียบ มีความทึบแสงกว่ากระดาษร่าง ส่วนใหญ่จะขายเป็นม้วน กว้าง 1.10 m. ยาว 30 m. ส่วนความหนาก็จะมีให้เลือกหลายเบอร์ แต่สำหรับงานพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้เป็นกระดาษไขที่ผลิตจากพลาสติก เพราะไม่หดตัว ผิวกระดาษจับดินสอ จับหมึกได้ดี 

กระดาษปอนด์ : เป็นกระดาษวาดเขียนทั่วไป มีความหนาต่างกัน

กระดาษอื่นๆ : เป็นกระดาษชนิดอื่นๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการเขียนแบบ เช่น กระดาษพิมพ์แบบ กระดาษสี กระดาษเทาขาว

กระดาษเขียนแบบเลือกยังไง?

กระดาษเขียนแบบถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับงานเขียนแบบ วิธีเลือกกระดาษเขียนแบบดังนี้

เลือกกระดาษเขียนแบบที่ผิวเรียบ ขอบตรง

วิธีเลือกกระดาษเขียนแบบ ควรเลือกกระดาษเขียนแบบที่มีผิวเรียบ ขอบด้านซ้ายจะต้องตรงและเรียบเนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องแนบหัวไม้ที เวลาเขียนแบบหัวไม้ทีต้องเลื่อนขึ้นเลื่อนลงอยู่ตลอดถ้าขอบกระดาษเขียนแบบด้านซ้ายไม่ตรง จะทำให้เส้นไม่ตรงด้วย

เลือกกระดาษเขียนแบบให้ขนาดเหมาะสมกับแบบ

ขนาดของกระดาษเขียนแบบควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของแบบ เพื่อง่ายต่อการอ่านแบบ ซึ่งกระดาษเขียนแบบมีให้เลือกหลายขนาด ตามมาตรฐาน DIN 476 ได้กำหนดขนาดกระดาษเขียนแบบไว้ 7 ขนาด คือ

ขนาด ขนาดกระดาษ (กว้าง x ยาว) ขนาดพื้นที่เขียนแบบ (กว้าง x ยาว)
A0
841 x 1,189 mm.
831 x 1,179 mm.
A1
594 x 841 mm.
584 x 831 mm.
A2
420 x 594 mm.
410 x 584 mm.
A3
297 x 420 mm.
287 x 410 mm.
A4
210 x 297 mm.
200 x 287 mm.
A5
148 x 210 mm.
138 x 200 mm.
A6
105 x 148 mm.
95 x 138 mm.

เลือกความหนากระดาษเขียนแบบ

กระดาษเขียนแบบวัดความหนาเป็นแกรม หน่วยแกรมวัดได้จากการนำกระดาษเขียนแบบ 1 ตารางเมตร ไปชั่งน้ำหนักในหน่วยกรัม ค่าที่ได้คือค่าความหนาของกระดาษเขียนแบบที่มีหน่วยเป็นแกรม เช่น กระดาษเขียนมีพื้นที่ 1 ตารางเมตร จำนวน 1 แผ่น เมื่อนำไปชั่งได้น้ำหนัก 80 กรัม เท่ากับว่ากระดาษเขียนแบบแผ่นนี้มีความหนา 80 แกรม

กระดาษเขียนแบบใช้ทำอะไร?

กระดาษเขียนแบบใช้เป็นพื้นที่ในการเขียนแบบ ซึ่งตัวกระดาษเขียนแบบจะถูกติดไว้กับโต๊ะเขียนแบบ หรือกระดานเขียนแบบ วิธีติดกระดาษเขียนแบบให้ใช้ไม้ทีวางทับกระดาษเขียนแบบ โดยให้ส่วนหัวของไม้ทีขนานกับโต๊ะหรือกระดานเขียนแบบ ตำแหน่งของกระดาษเขียนแบบควรห่างจากขอบในระยะเท่าๆ กัน เมื่อขอบกระดาษเขียนแบบขนานกับขอบไม้ทีให้ใช้เทปกาวติดมุมกระดาษเขียนแบบทั้ง 4 มุม การติดกระดาษเขียนแบบไว้กับโต๊ะหรือกระดานจะช่วยให้เขียนแบบได้ง่ายขึ้น เส้นตรงเป็นแนวระนาบเดียวกัน 

งานเขียนแบบเป็นงานที่ต้องใช้มาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ออกแบบและผู้ผลิต ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนในการผลิต ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นการเลือกกระดาษเขียนแบบก็ควรเลือกให้ตรงตามมาตรฐานด้วยเช่นเดียวกัน

Main Menu