เจาะลึก! ความลับของผลิตภัณฑ์กระดาษ (Paper) มีกี่แบบและใช้อย่างไร?

เจาะลึก! เรื่องที่คุณยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กระดาษ (Paper) ว่ามีกี่แบบและควรใช้อย่างไร ?

 หากกล่าวถึงเรื่องของกระดาษ เราเชื่อได้เลยว่าหลายๆ คน คงจะยังไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว กระดาษแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระดาษโฟโต้ กระดาษคาร์บอน กระดาษสี หรือแม้แต่กระดาษ a4 ดังนั้นในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับกระดาษแต่ละชนิดกัน รับรองเลยว่าคุณจะรู้จักกระดาษที่ดูธรรมดานี้ได้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน! 

กระดาษโฟโต้

กระดาษโฟโต้ คือ กระดาษที่ใช้สำหรับงานพิมพ์ภาพถ่ายหรืองานสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยคุณสมบัติเด่นของกระดาษโฟโต้ก็คือจะมีการเคลือบผิวหน้ากระดาษมาโดยเฉพาะ ส่งผลให้ภาพที่พิมพ์ออกมานั้นมีความคมชัด สีสวยสด มากกว่ากระดาษชนิดอื่นๆ อีกทั้งกระดาษโฟโต้ส่วนใหญ่จะกันน้ำได้! 

กระดาษโฟโต้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ…

1.การแบ่งกระดาษโฟโต้จากการเคลือบผิว

1.1Cast Coated เป็นกระดาษโฟโต้แบบเคลือบผิวด้านเดียว กันน้ำ แต่ไม่กันรอยขีดข่วน ราคาถูก

1.2Resin Coated เป็นกระดาษโฟโต้แบบเคลือบผิวสองด้าน กันน้ำกันรอยขีดข่วนได้ดี ภาพที่พิมพ์ออกมาสวยคมชัด แต่จะออกไปแนวสว่าง และที่สำคัญมีราคาสูงกว่า Cast Coated

2.การแบ่งกระดาษโฟโต้จากชนิดของผิวหน้า

2.1ผิวมัน (Glossy) เป็นรูปแบบกระดาษโฟโต้ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะจะให้ภาพที่สวยคมชัด แต่! จะมีรอยนิ้วมือติดรูปได้ง่ายหากถือไม่ระมัดระวัง ซึ่งอาจจะทำให้ภาพดูไม่สวยงามดังเดิม 

2.2ผิวด้าน (Matte) รูปแบบกระดาษโฟโต้ที่มาแรงที่สุดแห่งยุคคงจะหนีไม่พ้น กระดาษโฟโต้แบบด้าน ที่เข้ามาช่วยลดปัญหาเรื่องรอยนิ้วมือของกระดาษโฟโต้แบบมันนั่นเอง

กระดาษคาร์บอนหรือกระดาษก๊อปปี้

ยังคงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดว่ากระดาษคาร์บอนและกระดาษก๊อปปี้คือกระดาษคนละประเภท ทั้งที่ในความจริงแล้วกระดาษทั้ง 2 ชนิดนี้คือสิ่งเดียวกัน! โดยกระดาษคาร์บอนหรือกระดาษก๊อปปี้นั้นมักจะเห็นได้บ่อยๆ ตามร้านค้าส่ง ร้านอาหาร ซึ่งตัวกระดาษจะถูกเคลือบด้วยหมึกสี และนำไปเป็นกระดาษสำเนาในตัว เพื่อให้สามารถคัดลอกข้อความไปยังกระดาษแผ่นต่อไป โดยอาศัยแรงกดจากการเขียนนั่นเอง กระดาษคาร์บอนหรือกระดาษก๊อปปี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่… 

1.กระดาษคาร์บอนสำหรับงานพิมพ์ดีด

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยเห็นเครื่องพิมพ์ดีดกันสักเท่าไหร่นัก แต่! ในอดีตผู้คนจะใช้กระดาษคาร์บอนในการทำสำเนา โดยการใส่กระดาษสามชั้น ซึ่งกระดาษคาร์บอนจะอยู่ตรงกลาง เมื่อพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นแรกก็จะเกิดเป็นสำเนาขึ้นในกระดาษใบสุดท้าย

2.กระดาษคาร์บอนสำหรับตัดเสื้อ

หากใครที่เรียนด้านแฟชั่นดีไซน์ คงจะคุ้นเคยกับกระดาษคาร์บอนหรือกระดาษก๊อปปี้เป็นอย่างดี เพราะกระดาษประเภทนี้จะถูกนำมาใช้ในการลอกแพทเทิร์นลงบนเนื้อผ้า โดยใช้เพียงลูกกลิ้งหรือของปลายแหลม กลิ้งไปตามแนวแพทเทิร์น ก็จะปรากฏลายเส้นบนเนื้อผ้า เพื่อให้สามารถตัดผ้าออกมา เป็นชิ้นส่วนต่างๆ และนำไปตัดเย็บในขั้นตอนต่อไปนั่นเอง

3.กระดาษคาร์บอนสำหรับงานเขียน

กระดาษคาร์บอนหรือกระดาษก๊อปปี้ประเภทนี้ ถือได้ว่าได้รับความนิยมมาที่สุด! ซึ่งผู้คนมักจะนำไปใช้ในการทำบิลเงินสดตามร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ใช้ในการทำใบกำกับภาษี ทั้งนี้ที่ผู้คนนิยมใช้กระดาษคาร์บอนก็เพราะว่าสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเขียนเอกสารขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งฉบับให้เสียเวลา 

กระดาษสี

กระดาษสี ก็คือกระดาษทั่วไปที่มีการเติมแต่งสีสันเข้าไป นิยมใช้ในการทำตกแต่งบอร์ดหรืองานฝีมือต่างๆ 

กระดาษขาว

กระดาษขาว คือ กระดาษที่ทำจากเยื่อเคมีฟอกขาว ผลิตเป็นกระดาษสีขาวสะอาดตา นิยมใช้ในการเขียนหรือพิมพ์ ทำสมุด และพิมพ์หนังสือทั่วไป หรือเรียกง่ายๆ กระดาษขาว เป็นชนิดกระดาษที่ผู้คนคุ้นเคยกันมากที่สุด 

กระดาษถ่ายเอกสาร

กระดาษเอกสาร คือ กระดาษปอนด์ที่มีขนาดใหญ่และถูกนำมาตัดเป็นขนาดต่างๆ ตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งขนาดที่ว่านี้ก็เป็นไปตามมาตรฐานของกระดาษทั่วๆ ไป เช่น A4 A3 เป็นต้น โดยในปัจจุบันนี้กระดาษเอกสาร ถูกแยกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ประกอบด้วย… 

1.กระดาษถ่ายเอกสารรีไซเคิล

กระดาษถ่ายเอกสารรีไซเคิล คือ กระดาษที่ผลิตมาจากเศษกระดาษที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว โดยทางผู้ผลิตจะนำมาคัดแยกแบบไม่ละเอียด และนำกระดาษทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการดูดหมึก หลังจากนั้นจะนำเยื่อกระดาษที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตกระดาษตามปกติ โดยคุณสมบัติของกระดาษถ่ายเอกสารรีไซเคิล จะมีจุดด่างดำ ความเรียบลื่นน้อย คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งเหมาะกับการใช้ถ่ายเอกสารที่ไม่เป็นทางการ หรือถ่ายเอกสารเอาไว้ใช้งานเอง 

2.กระดาษถ่ายเอกสารธรรมดา

กระดาษถ่ายเอกสารธรรมดา คือ กระดาษถ่ายเอกสารที่ผลิตมาจากเยื่อกระดาษใหม่ ที่ยังไม่เคยผ่านการใช้งานใดๆ ทั้งสิ้น ส่งผลให้กระดาษถ่ายเอกสารประเภทนี้ มีคุณภาพดีมาก! ผิวสัมผัสจะเรียบลื่น ไม่มีจุดด่างดำหรือสิ่งสกปรก นิยมใช้ถ่ายเอกสารกับงานที่เป็นทางการ อีกทั้งยังมีกระดาษถ่ายเอกสารธรรมดาอีกหนึ่งประเภทที่ผลิตขึ้นมาจากเศษกระดาษ แต่! เศษกระดาษเหล่านั้นยังไม่ผ่านการใช้งาน โดยนำมาเข้ากระบวนการผลิตกระดาษอีกครั้ง และแน่นอนว่าคุณภาพที่ได้ ก็ดีไม่แพ้กระดาษถ่ายเอกสารชนิดอื่นเลย 

3.กระดาษถ่ายเอกสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กระดาษถ่ายเอกสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ กระดาษที่ผลิตจากเยื่อกระดาษใหม่ผสมกับเยื่อเวียนทำใหม่ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือต้องมีอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 70 ต่อ 30 ซึ่งกระดาษถ่ายเอกสารประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันสามารถช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ถึง 30% 

กระดาษ 1 รีม

คำว่ากระดาษ 1 รีม นั้น เราต้องขอบอกก่อนเลยว่า มันไม่ใช่ประเภทของกระดาษแต่อย่างใด! เพราะในความเป็นจริงแล้ว “รีม” คือหน่วยนับจำนวนแผ่นกระดาษ โดยกำหนดว่ากระดาษ 516 แผ่น = 1 ริม แต่ในปัจจุบันนี้นิยามของคำว่ารีมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จาก 516 แผ่น ก็กลับกลายมาเป็น 480 หรือ 500 แผ่น ก็ถือว่าเป็น 1 รีม หรือหากจะให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็คือ…ปึกกระดาษ A4 ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายตามร้านเครื่องเขียนหรือห้างสรรพสินค้า จำนวน 480-500 แผ่น เรียกว่า 1 รีม 

กระดาษเทาขาว

กระดาษเทาขาว คือ กระดาษแข็ง มีคุณสมบัติ เรียบ ทึบแสง มีน้ำหนักเบา ด้านหนึ่งจะเป็นสีขาว อีกด้านหนึ่งจะเป็นสีเทา นิยมใช้ทำกล่องเพื่อบรรจุขนมหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา ใช้ในการประกอบเป็นโมเดล งานฝีมือต่างๆ ซึ่งความหนาของกระดาษเทาขาวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 270 แกรม 

กระดาษโปสเตอร์

กระดาษโปสเตอร์ คือ กระดาษปอนด์ที่มีการขัดมันเรียบในหน้าหนึ่ง ส่วนอีกหนึ่งจะปล่อยให้พื้นหลังหยาบตามปกติ นิยมใช้ในการตีพิมพ์รูปภาพขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น 

กระดาษดับเบิ้ลเอ

กระดาษดับเบิ้ลเอ คือ กระดาษที่เคลือบด้วยสารสีขาวทั้งสองหน้ากระดาษ ผิวเรียบเนียน นิยมใช้กันเป็นวงกว้าง โดยสามารถแบ่งได้เป็นประเภทกระดาษดับเบิ้ลเอ ได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ…

1.AA-Gloss หรือกระดาษอาร์ตมัน น้ำหนักตั้งแต่ 90-160 แกรม 

2.AA-Matt หรือ กระดาษอาร์ตด้าน น้ำหนักตั้งแต่ 90-160 แกรม

กระดาษ a3 กระดาษ a4 กระดาษ a5

เราต้องขออธิบายก่อนว่า กระดาษ a3 กระดาษ a4 กระดาษ a5 ไม่ใช่ประเภทของกระดาษแบบที่หลายๆ คน คิด! แต่มันคือขนาดมาตรฐานของกระดาษ โดยจะเริ่มตั้งแต่ a0 – a10 ซึ่งจะวัดเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้…

a0 = 841 x 1189  มิลลิเมตร

a1 = 594 x 841 มิลลิเมตร

a2 = 420 x 594 มิลลิเมตร

a3 = 297 x 420 มิลลิเมตร

a4 = 210 x 297 มิลลิเมตร

a5 = 148 x 210 มิลลิเมตร

a6 = 105 x 148 มิลลิเมตร

a7 = 74 x 105 มิลลิเมตร

a8 = 52 x 74 มิลลิเมตร

a9 = 37 x 52 มิลลิเมตร

a10 = 26 x 37 มิลลิเมตร

 รายละเอียดที่เรากล่าวไปข้างต้นคงพอจะทำให้คุณเข้าใจกันแล้วใช่ไหมล่ะว่า กระดาษแต่ละประเภทล้วนมีเอกลักษณ์และการใช้งานที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น กระดาษโฟโต้ กระดาษสี กระดาษคาร์บอน กระดาษก็อปปี้ ฯลฯ ซึ่งทางที่ดีคุณคงต้องเลือกใช้กระดาษให้เหมาะสมกับการใช้งานเพื่อประสิทธิภาพขั้นสูงสุด!

Main Menu